เหตุใดสังคมจึงเป็นแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน? (Part 1)

Patraporn Kuhavattana
2 min readSep 12, 2020
source: https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/635022/

ปัจจุบันมีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมากมาย หลายอย่างมีความเชื่อมโยงกัน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ถ้าลองย้อนกลับไปในอดีตเราจะพบว่าเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆทั้งหลายรอบตัวล้วนมีที่มา ไม่ว่าจะเป็นศาสนา สังคม หรือแม้แต่ความเชื่อ — ที่มักเชื่อกันว่าบริสุทธิ์และมาจากก้นบึ้งของจิตใจ แต่มันมีอยู่จริงๆน่ะหรือ? ในบทความนี้เราจะมาค้นหาที่มาของสิ่งต่างๆดังที่กล่าวมา

ตลอดช่วงเวลาหลายพันปี อารยธรรมของเราได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายจนเกินจะจินตนาการได้ ตั้งแต่การเกิดขึ้นของภาษาพูด การกำเนิดขึ้นของเกษตรกรรม การเกิดขึ้นของหลักศาสนาที่เป็นหลักอ้างอิงซึ่งช่วยในการตัดสินใจในบางสถานการณ์ รวมไปถึงตัวอักษรต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือผลผลิตของภูมิปัญญามนุษย์ในยุคต้นๆที่ถูกส่งทอดกันมาจนถึงรุ่นของเรา

อะไรทำให้เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น

source: https://infobush.com/homo-erectus-history-upright-man-history-of-human/

ในโลกนี้มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เกือบเก้าล้านสปีชีส์ ตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียวไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (เราเองก็เป็นสปีชีส์หนึ่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) แล้วอะไรที่ทำให้เผ่าพันธุ์ของเรา ซึ่งเป็นเพียงสปีชีส์หนึ่งจากเกือบเก้าล้านสปีชีส์ทั้งหมดบนโลก สามารถครองโลกได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่หมื่นปีเท่านั้น ความลับอยู่ในสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ภาษาพูด”

โดยทั่วไปแล้วความสามารถในการพูดไม่ได้มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น แต่สัตว์อื่นๆไม่ว่าจะเป็นปลาโลมา นก หรือลิง ล้วนมีภาษาพูดของพวกมันเองด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้ภาษาพูดของเราโดดเด่นกว่าภาษาพูดของสัตว์อื่นๆก็คือ มันสามารถใช้อธิบายถึงรายละเอียดของสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ลิงตัวหนึ่งถูกคุกคามโดยสัตว์นักล่า มันอาจส่งเสียงร้องเตือนลิงตัวอื่นๆในกลุ่มถึงอันตรายที่ใกล้เข้ามา แต่มันไม่สามารถบอกรายละเอียดอย่างเฉพาะเจาะจงได้ว่ามีสัตว์นักล่ากำลังเคลื่อนใกล้เข้ามาด้วยความเร็วสูง สิ่งนี้เองที่ทำให้ภาษาพูดของเราแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ

ด้วยความสามารถในการสื่อสารที่สลับซับซ้อนนี้เองทำให้มนุษย์สามารถร่วมมือกันได้ในกลุ่มใหญ่ ว่ากันว่ามนุษย์สามารถมีส่วนร่วมในกลุ่มที่มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น ซึ่งมีสมาชิกได้สูงสุดมากถึง 150 คน ในขณะที่ฝูงลิงฝูงหนึ่งมีสมาชิกอย่างมากสุดก็แค่ไม่เกิน 50 ตัว

โดยสรุปแล้วความสามารถในการใช้ภาษาพูดที่ซับซ้อนทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาจากกลุ่มขนาดเล็ก กลายมาเป็นกลุ่มก้อนทางสังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ มันช่วยอธิบายว่าทำไมคนส่วนใหญ่ชอบเรื่องซุบซิบนินทา นั่นก็เพราะว่ามันทำให้เราสามารถร่วมมือกันได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

เหตุใดเราจึงมีอาหารกินตลอดปี

source: http://www.sci-news.com/othersciences/anthropology/ancient-dna-prehistory-southeast-asia-06021.html

หลังใช้เวลาหลายพันปีเร่ร่อนไปตามแหล่งต่างๆเพื่อเก็บของป่า จนถึงจุดหนึ่งมนุษย์ได้มีความคิดที่จะลงหลักปักฐานเป็นหลักแหล่ง ดังนั้นจึงทำให้เกิดความคิดริเริ่มในการทำเกษตรกรรมขึ้น นั่นเป็นเพราะการจะอาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน จำเป็นต้องมีแหล่งอาหารที่เพียงพอสำหรับรองรับการดำรงชีวิตอยู่ของประชากร การเกษตรกรรมจึงกลายมาเป็นอีกทางออกหนึ่ง จากในอดีตที่สัตว์จำพวกปศุสัตว์มีบทบาทเป็นเพียงแค่ผู้ติดตามของมนุษย์ยามเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเกษตรกรรมพวกมันได้เปลี่ยนบทบาทกลายมาเป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ มีการคิดค้นวิธีเลี้ยงสัตว์เหล่านี้จำนวนมากโดยใช้แค่พื้นที่แคบๆ เป็นเหตุผลทำให้พวกมันเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล จากผลสำรวจในปัจจุบันพบว่าในบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตอยู่บนโลกถ้าไม่นับรวมมนุษย์ ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกสัตว์ในปศุสัตว์นั่นเอง

การที่เกษตรกรรมทำให้มนุษย์มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนมนุษย์ที่สามารถอาศัยอยู่ได้ต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่มีจำนวนมากขึ้น สิ่งนี้เองที่ทำให้สังคมเมืองถือกำเนิดขึ้นมา โดยในอดีตเมืองเมืองหนึ่งอาจมีผู้อยู่อาศัยได้มากถึงหนึ่งหมื่นคน

การเติบโตขึ้นของสังคมเมืองทำให้มนุษย์อาศัยอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น บางครั้งจึงเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีหลักเกณฑ์สากลบางอย่างเพื่อใช้ในการยึดถือและไกล่เกลี่ย ซึ่งเป็นที่มาของศาสนาซึ่งมีผู้นับถืออยู่อย่างหลากหลายในปัจจุบัน

เหตุใดคนจำนวนมากถึงร่วมมือกันได้

source: https://www.ancient.eu/image/8983/taking-of-jerusalem-by-the-crusaders/

ในสมัยโบราณมนุษย์ได้นำความเชื่อเกี่ยวกับผีสางเทวดามาใช้ประกอบการดำรงชีวิต คนในยุคนั้นเชื่อกันว่ามีเทพีที่คอยปกปักรักษาธรรมชาติอยู่ จึงไม่ควรกระทำการใดๆที่เป็นการละเมิด เมื่อเข้าสู่ยุคเกษตรกรรมที่มนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกันด้วยจำนวนที่มากขึ้น ได้มีการยกระดับความเชื่อขึ้นไปอีกระดับ โดยความเชื่อที่ว่านี้ต้องเป็นสิ่งที่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ในประชากรหมู่มาก และสามารถถูกเผยแผ่ออกไปได้ในวงกว้าง ดังนั้นนิยามของศาสนาจึงหมายถึงรูปแบบของความเชื่อที่คนจำนวนมากยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ และสามารถถูกถ่ายทอดไปยังคนอื่นๆได้โดยง่าย โดยอาจผ่านทางหลักคำสอนดังเช่น พระไตรปิฏกในศาสนาพุทธ หรือคัมภีร์ไบเบิลในศาสนาคริสต์ ศาสนาเหล่านี้ล้วนต้องมีผู้ทำหน้าที่เผยแผ่หลักคำสอนต่ออีกทอดหนึ่ง

นอกจากศาสนาจะถูกใช้เป็นหลักปฏิบัติยึดถือในชีวิตประจำวันแล้ว มันยังถูกใช้เพื่อทำให้คนจำนวนมากที่ไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันสามารถทำงานร่วมกันได้ ยกตัวอย่างเช่น การที่อัศวินจำนวนมากที่ไม่ได้รู้จักกันเลยพร้อมใจกันเข้าร่วมสงครามครูเสดในยุคกลาง โดยหวังว่าการเข้าร่วมสงครามเพื่ออุทิศแด่พระผู้เป็นเจ้าจะส่งผลให้พวกเขาได้ขึ้นสวรรค์

ระบอบกษัตริย์ในอดีตมีความเป็นมาอย่างไร

source: http://www.dailynews.lk/2017/02/01/features/106289/pharaohs-alive

การดำรงอยู่ของระบอบกษัตริย์ในอดีตมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากกับในกรณีของศาสนา แรกเริ่มเดิมทีมนุษย์โบราณแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยหัวหน้าเผ่าที่มีหน้าที่ดูแลสารทุกข์สุกดิบของสมาชิกในกลุ่ม สำหรับยุคเกษตรกรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อสังคมมนุษย์ขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นสังคมเมือง จึงมีความจำเป็นต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการต่างๆให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น และสิ่งนี้เองที่เป็นที่มาของการปกครองโดยระบอบกษัตริย์

ในสมัยอียิปต์โบราณฟาโรห์มักได้รับการขนานนามว่าเป็นร่างทรงของเทพเจ้า แต่ในปัจจุบันพวกเราล้วนรู้ว่าความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ อย่างไรก็ตามการที่คนอียิปต์สมัยโบราณพร้อมจะเชื่อในอำนาจของฟาโรห์ ด้วยเพราะหวังว่าอย่างน้อยฟาโรห์ก็น่าจะนำพาพวกเขาไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้ นี่เองคือเหตุผลที่แท้จริงของการมีอยู่ของระบอบกษัตริย์ในอดีต หรืออาจกล่าวได้ว่าอำนาจของกษัตริย์นั้นขึ้นอยู่กับจิตวิสัยร่วมของคนส่วนใหญ่นั่นเอง

สังคมเมืองเจริญขึ้นมาได้อย่างไร

source: https://brewminate.com/city-and-regional-government-in-ancient-egypt/

เมื่อประชากรในสังคมเมืองมีจำนวนเพิ่มขึ้น การจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมก็ตามมาซึ่งเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับคงความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร นอกจากนี้ยังจำเป็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถของเมืองอีกด้วย โดยขุนนางได้รับหน้าที่เป็นผู้แทนในนามของกษัตริย์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ผลผลิตที่มีถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการบังคับให้มีการจัดเก็บภาษี ในอดีตภาษีมักอยู่ในรูปของผลผลิตการเกษตรที่เกษตรกรผลิตได้ อาทิเช่น ข้าวสาลี หรือข้าวเปลือก ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็เปรียบได้กับเงินภาษีที่ผู้มีเงินได้อย่างเราๆต้องเสียอยู่ทุกปี

เมื่อมีการจัดเก็บภาษี จึงมีความต้องการกระบวนการที่ทำให้การเก็บภาษีมีความถูกต้องแม่นยำ และไม่ขาดตกบกพร่อง สิ่งนี้เองเป็นที่มาให้เกิดการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้น โดยตัวอักษรที่ไม่สมบูรณ์ประเภทแรกมีชื่อว่า “ตัวอักษรคูนิฟอร์ม” ในยุคของพวกสุเมเรียน มันถูกใช้ในการจดบันทึกภาษีที่รายบุคคลต้องจ่ายในแต่ละฤดูการเก็บเกี่ยว เหตุที่มันถูกจัดว่าเป็นตัวอักษรที่ไม่สมบูรณ์นั้นเป็นเพราะว่ามันไม่สามารถบอกเล่ารายละเอียดอย่างลึกซึ้ง ยกตัวอย่างเช่น การเขียนบทกวีต้องการภาษาที่ละเอียดอ่อนในการพรรณนาถึงเรื่องราวต่างๆให้ผู้อ่านเข้าใจ ซึ่งลำพังเพียงแค่ตัวอักษรสัญลักษณ์แบบดั้งเดิมคงไม่สามารถสื่อความได้ครบถ้วนสมบูรณ์

source: https://www.britannica.com/topic/hieroglyph

หลังการเกิดขึ้นของตัวอักษรคูนิฟอร์มที่ไม่สมบูรณ์ ในท้ายที่สุดมนุษย์ก็สามารถคิดค้นตัวอักษรที่สามารถใช้สื่อความหมายอย่างสมบูรณ์ ตัวอักษรประเภทแรกที่มีความหมายสมบูรณ์นั้นมีชื่อว่า “ตัวอักษรฮีโรกลีฟฟิก” ซึ่งถูกใช้เป็นครั้งแรกในสมัยอียิปต์โบราณ มันเป็นรากฐานของบรรดาตัวอักษรซึ่งถูกใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แน่นอนว่าตัวอักษรที่ใช้เขียนบทความนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของตัวอักษรที่สื่อความได้สมบูรณ์เช่นเดียวกับตัวอักษรฮีโรกลีฟฟิก

หากไม่มีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นต่อรุ่นย่อมทำได้ยาก เราคงไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ใช้อย่างในปัจจุบัน ถ้าวิธีสร้างพวกมันไม่สามารถถูกจดบันทึกและนำมาวิจัยพัฒนาต่อได้

บทความนี้ได้กล่าวถึงรากฐานสำคัญซึ่งนำมาสู่ระบบสังคมในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ภาษาพูดที่ซับซ้อนซึ่งทำให้มนุษย์สามารถร่วมมือกันได้ในกลุ่มใหญ่ ต่อมาการเกิดขึ้นของเกษตรกรรมช่วยให้มนุษย์สามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้มากขึ้นจนเพียงพอต่อการดำรงอยู่ของสังคมเมือง นอกจากนี้กลไกของศาสนา และระบอบการปกครอง ยังทำให้สังคมมนุษย์ในอดีตสามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากความขัดแย้งที่รุนแรง และสุดท้ายการคิดค้นตัวอักษรได้เป็นใบเบิกทางให้มนุษย์สามารถก้าวสู่สังคมสมัยใหม่ดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ในบทความต่อไปเราจะมาค้นหากันว่าสังคมมนุษย์สมัยใหม่จะก้าวเดินต่อไปในทิศทางใด

บทความนี้ได้อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเรื่อง “Sapiens: A Brief History of Humankind” เขียนโดย “Yuval Noah Harari”

--

--

Patraporn Kuhavattana

A data scientist who enthusiast to know more about the world. A book lover who interested in literature, science and philosophy genres.